"แม่ชะเวง อ่อนละม้าย" หุ่นกระบอกโบราณ ๕ แผ่นดิน
    การแสดงหุ่นกระบอกโบราณ คนร้องและคนเชิดเป็นคนเดียวกัน ดำเนินเรื่องแบบละครพื้นบ้าน โดยนายเหน่ง เป็นเจ้าของหุ่น และได้ถ่ายทอดให้แก่ลูกหลาน ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อคณะตามเจ้าของหุ่นผู้ได้รับสืบทอด หุ่นกระบอกคณะที่มีชื่อเสียงของจังหวัดนครสวรรค์ ได้แก่ หุ่นกระบอกคณะแม่ชะเวง  อ่อนละม้าย  เป็นหุ่นกระบอกคณะแรกของไทยที่มีประวัติสืบทอดมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ หรือกว่าร้อยปีล่วงมาแล้ว
    คุณแม่ชะเวง อ่อนละม้าย ศิลปินดีเด่นสาขาศิลปะการแสดง ด้านเชิดหุ่นกระบอกแบบดั้งเดิม และคนดีเมืองสี่แคว ของจังหวัดนครสวรรค์ และได้รับปริญญาครุศาสตร์บัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์
    คุณแม่ชะเวง เกิดเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๓ ที่อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ จบการศึกษาชั้นประถมปีที่ ๔ จากโรงเรียนโคกหม้อประชาชนูทิศ เป็นบุคคลที่มีความสามารถในด้านการแสดงหุ่นกระบอกแบบดั้งเดิม โดยแม่ชะเวงเริ่มเล่นหุ่นตั้งแต่อายุ ๑๔ ปี โดยอาศัยครูพักลักจำ ในการติดตามคณะไปซ้อมเล่น และแม่ละอองก็สั่งสอนให้โดยตรง แต่ที่ได้เป็นจริงเป็นจัง จนได้เล่นคู่กันตลอดต้องถือว่าแม่บุญช่วย คือครูที่แท้จริง โดยครั้งแรกๆ นั้นได้เชิดพวกตัวประกอบและเป็นลูกคู่ เมื่อพัฒนาฝีมือมากขึ้นจึงได้เชิดตัวพระ ตัวนางนอกจากนี้ แม่ชะเวงยังได้ฝึกการร้อง การพากย์ เจรจา ประกอบการเชิดจนสามารถจำกระบวนการแสดงได้ครบถ้วนตั้งแต่ก่อนจะอายุครบ ๒๐ ปี
    แม่ชะเวง ได้เปลี่ยนชื่อคณะจากหุ่นกระบอกแม่บุญช่วย เป็น "หุ่นกระบอกคณะแม่ชะเวง  อ่อนละม้าย" ตั้งแต่เมื่อคราวไปแสดงที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในงานมหรสพหุ่นไทย ในวันที่ ๒๕ - ๓๑ มีนาคม ๒๕๓๕ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย
    แม่ชะเวงได้เล่นหุ่นกระบอกได้สร้างสรรค์ ตัวหุ่นมีความสวยงามสไตล์พื้นบ้าน อนุรักษ์ศิลปการแสดง ทั้งดูแลคณะ ดูแลหุ่น และอุปกรณ์ต่างๆ
รวมถึงการจัดแสดงเองแต่งเรื่อง ดัดแปลง จนถึง ประพันธ์ คำร้อง ทำนอง เขียนบทร้อง ปัจจุบันก็ยังคงเปิดแสดงศิลปการแสดงหุ่นกระบอกแบบดั้งเดิม
ทั้งการรับเชิญจากส่วนราชการต่างๆ และหน่วยงานเอกชนเป็นประจำเกือบทุกเดือนเทศกาลของไทย
    ปัจจุบันแม่ชะเวงเป็นศิลปินรับเชิญ สาธิตการเชิดหุ่นกระบอกโบราณ เพื่อเฉลิมพระเกียรติในทุกวโรกาส เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านศิลปวัฒนธรรม
การแสดงภูมิปัญญาไทยท้องถิ่น แก่ทุกสถาบันการศึกษา พร้อมเป็นอาจารย์พิเศษ สำนักศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ การอบรมเชิงปฏิบัติการ "การเชิดหุ่นกระบอกพื้นบ้านแบบโบราณ"
    หุ่นกระบอกของคุณยายชะเวง อ่อนละม้าย ถือว่าเป็นหุ่นกระบอกคณะหนึ่งที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยม ในท้องถิ่นภาคกลาง
ตัวหุ่นยังคงอนุรักษ์ไว้ให้เป็นแบบเดิมๆ มีความสวยงามอย่างพื้นบ้าน และยังคงรูปแบบการเชิดการร้องเล่นเป็นแบบโบราณไว้ทั้งหมด
ยังคงเก็บรักษาหุ่นกระบอกโบราณตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ จำนวนไม่น้อยกว่า ๕๐๐ ตัว สืบทอดศิลปะการเชิด และร้อง บทละครโบราณ ๑๔ เรื่อง
และยังคงจัดสร้างหุ่นกระบอก และประพันธ์บทละครใหม่อยู่เสมอ
    คุณแม่ชะเวง อ่อนละม้าย เป็นแหล่งข้อมูล คุณค่าทางประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญามรดกไทย โบราณด้านศิลปะการเชิดหุ่นกระบอก
ที่ยังมีชีวิตอยู่