รำกลองยาว
    คณะกลองยาวที่มีชื่อเสียงมากของชาวอำเภอพยุหะคีรี ได้แก่ คณะ บ.รุ่งเรืองศิลป์ ของนายบุญ เอี่ยมเวช ซึ่งได้ดัดแปลงท่าร่ายรำมาจากท่าร่ายรำของลิเก พร้อมได้ดัดแปลงประดิษฐ์ชุดแต่งกายขึ้น โดยเลียนแบบจากเครื่องแต่งกายของลิเกเช่นกัน และใช้ชื่อว่า "กลองยาวประยุกต์" และได้นำออกแสดงเป็นครั้งแรกราวปี พ.ศ.๒๕๐๐ ในปัจจุบันยังมีการเผยแพร่และยังได้รับความนิยมมากมายหลายคณะ หรือถ้าในระดับอุดมศึกษา โรงเรียนโพฒิสารศึกษาจะได้ชื่อว่าเป็นผู้อนุรักษ์และสืบทอดศิลปะรำกลองยาวได้สวยงามมากที่สุด
     การรำกลองยาวนั้น ในตอนแรกผู้ร่ายรำใช้ทั้งชายและหญิง ต่อมาเปลี่ยนเป็นใช้ผู้หญิงเป็นผู้ร่ายรำเท่านั้น ส่วนผู้ชายทำหน้าที่ตีกลองยาว และเครื่องดนตรีประกอบ ในตอนแรกมีผู้เล่นทั้งหมด 16 คน โดยมีผู้ตีกลองยืน 3 คน และผู้ตีเครื่องดนตรีประกอบได้แก่ ฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง ฆ้อง อีก 5 คน
     สำหรับผู้รำมี 4 คู่ 8 คน มีผู้รำคนหนึ่งเป็นหัวหน้า คล้องนกหวีดไว้ที่คอสำหรับเป่าเป็นสัญญาณในการเปลี่ยนท่ารำ ในตอนหลังมีการเพิ่มเครื่องดนตรี เช่น กลองอเมริกันและปี่ชวาขึ้น และเพิ่มความครึกครื้น ก็เพิ่มผู้ร่ายรำเข้าไปอีก
     ในเรื่องของการแต่งกาย แต่เดิมไม่มีแบบแผน แต่ต่อมาได้คิดประดิษฐ์ชุดเครื่องแต่งกายขึ้นใหม่โดยแปลงจากชุดของลิเก คือ นุ่งกางเกงคลุมเข่า และนุ่งผ้าโจงกระเบนทับกางเกง สวมเสื้อคอกลมแขนสั้น มีผ้าคาดศีรษะ ทัดดอกไม้ไว้ข้างหู สวมถุงเท้าสีขาวยาวถึงครึ่งน่อง มีผ้าคาดเอว
     บทร้องประกอบการเล่น ในการเล่นอาจมีบทร้องประกอบหรือร้องกระทุ้งในเวลาที่ผู้ร่ายรำออกรำเพื่อเพิ่มความสนุกสนานครึกครื้นทั้งผู้ชมและผู้แสดง