ชุมชนชาวจีนปากน้ำโพ และประเพณีตรุษจีน จังหวัดนครสวรรค์
    คนจีน เริ่มอพยพเข้าสู่ประเทศไทยตั้งแต่ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาเรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยหนีความอดอยากจากภัยธรรมชาติ
และสงครามเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของกษัตริย์ไทยชาวจีนทั้งหมดที่อพยพเข้ามาอยู่ในนครสวรรค์นั้น มีหลายกลุ่ม โดยชาวจีนไหหลำเป็นกลุ่มแรกที่
อพยพเข้ามา ตั้งถิ่นฐานในอำเภอเก้าเลี้ยว และตำบลบ้านมะเกลือ ต่อมาชาวจีนแต้จิ๋ว จีนแคระ และจีนกวางตุ้งก็เริ่มอพยพตามมา
   
   ในอดีต การค้าของนครสวรรค์อาศัยทางน้ำเป็นหลัก พ่อค้าชาวจีนเป็นคนกลางในการนำสินค้าจากกรุงเทพมหานครและสินค้าสำเร็จรูปจากต่างประเทศมาขายในนครสวรรค์และอำเภอต่างๆ โดยขากลับก็จะนำผลผลิตทางการเกษตร ของป่า และของพื้นเมืองล่องแม่น้ำเจ้าพระยาไปขายที่กรุงเทพมหานครด้วยพ่อค้าชาวจีนเหล่านี้อาศัยอยู่ในเรือของตนซึ่งจอดอยู่ในลำน้ำเจ้าพระยา ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการติดต่อทำการค้าและขนส่งสินค้าลงมากรุงเทพมหานคร
การขยายตัวทางการค้าโดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา ทำให้ชาวจีนหลั่งไหลเข้ามาขายแรงงานและประกอบการค้าในนครสวรรค์มากขึ้น จนกระทั่งมีการย้ายศูนย์กลางการค้าจากฝั่งตะวันออก คือ ฝั่งแม่น้ำน่านมายังฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา หรือที่เรียกกันในปัจจุบันว่า "ตลาดปากน้ำโพ" ซึ่งเป็นบริเวณที่คนไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก

    ปัจจุบัน ชาวจีนมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของนครสวรรค์และสามารถพัฒนาตนเองให้เข้ากับระบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดเวลา
โดยเฉพาะเข้ามาประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายรูปแบบ เช่น เป็นพ่อค้าคนกลาง นายทุนเงินกู้ เจ้าของทุนด้านเกษตรและอุตสาหกรรม การธนาคาร การคมนาคม และบริษัทเงินทุน เป็นต้น ชาวจีนที่เข้ามาอาศัยอยู่ในนครสวรรค์เหล่านี้ สามารถปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรม ประเพณีของไทยได้อย่างกลมกลืน แต่ในขณะเดียวกันก็ยังรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของตนไว้ได้อย่างดี จนกลายเป็นประเพณีท้องถิ่นของนครสวรรค์ โดยเฉพาะงานเทศกาลตรุษจีนและการแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ ที่มีชื่อเสียงไปทั่วประเทศ