เต้นกำรำเคียว
    แถบจังหวัดนครสวรรค์ โดยเฉพาะอำเภอพยุหะคีรี ประชาชนส่วนมากยึดอาชีพการทำนาเป็นหลัก หลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ชาวนารู้สึก
เหน็ดเหนื่อย และด้วยนิสัยรักความสนุก ประกอบกับการเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอนของคนไทยด้วย ก็ชักชวนกันผ่อนคลายความเมื่อยล้า ด้วยการตั้งวงเต้นกำรำเคียว
    การเล่นเต้นกำรำเคียวมักเริ่มเล่นเพลงเกี่ยวข้าวก่อนเสมอ เต้นกำรำเคียวเป็นการละเล่นพื้นบ้านที่เก่าแก่แบบหนึ่งของชาวชนบท สันนิษฐานว่า เกิดขึ้นสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นครั้งแรกที่บ้านสระทะเล ตำบลสระทะเล อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ เล่นกันแพร่หลายในบ้านสระทะเล และตำบลใกล้เคียง
    มีผู้รู้เกี่ยวกับเพลงพื้นบ้านคนหนึ่ง กล่าวว่า แต่เดิมชาวบ้านเรียกการละเล่นชนิดนี้ว่า "เต้นกำ" แต่กรมศิลปากรได้ไปถ่ายทอด และนำไปเผยแพร่ ก็ได้เพิ่มคำว่า "รำเคียว" ต่อท้าย จึงทำให้ประชาชนทั้งหลายรู้จักการละเล่นแบบนี้ในชื่อของ "เต้นกำรำเคียว" โดยจะเล่นกันในท้องนาที่เกี่ยวข้าว หรือลานดินกว้างๆ ในท้องนา และจะมีเคียวเกี่ยวข้าวคนละ 1 เล่ม พร้อมกับกำรวงข้าวคนละ 1 กำ
    ปัจจุบันมีผู้สนใจการแสดงชนิดนี้มากขึ้นจึงนำมาแสดงบนเวที การแต่งกาย ทั้งของฝ่ายชายและฝ่ายหญิง คือ ชุดที่ใส่ในการทำนา ฝ่ายชายจะนุ่งกางเกงขาก๊วย  และสวมเสื้อม่อฮ่อมสีดำหรือสีน้ำเงินเข้มมีผ้าขาวม้าคาดเอว สวมหมวกสานใบลาน ฝ่ายหญิงจะนุ่งโจงกระเบนสีดำ หรือโจงกระเบนผ้าลายก็ได้ และสวมเสื้อแขนกระบอกสีดำหรือสีน้ำเงินเข้ม สวมงอบ
    ลักษณะการแสดง จะแบ่งผู้เล่นเป็น  2 ฝ่ายคือ  ฝ่ายชายและฝ่ายหญิง  สำหรับฝ่ายชายเรียกว่า  "พ่อเพลง" ฝ่ายหญิงจะเรียกว่า  "แม่เพลง"  เริ่มด้วยพ่อเพลงร้องชักชวนแม่เพลงให้ออกมาเต้นกำรำเคียว โดยร้องเพลงและเต้นออกไปรำล่อฝ่ายหญิง  และแม่เพลงก็ร้องและรำแก้กันไป  ซึ่งพ่อเพลงนี้อาจเปลี่ยนไปหลายๆ คน  ช่วยกันร้องจนกว่าจะจบเพลง  ส่วนผู้ที่ไม่ได้เป็นพ่อเพลงแม่ก็ต้องเป็น  "ลูกคู่"  ปรบมือและร้องเฮ้ เฮ้ว ให้จังหวะ
    การนำเพลงเต้นกำรำเคียวไปเผยแพร่นั้น กรมศิลปากรได้ดัดแปลงท่ารำและเนื้อร้องใหม่ เพื่อให้สุภาพขึ้น และใช้ระนาดเป็นเครื่องดนตรีประกอบในตอนต้นและตอนท้าย เพลงเต้นกำรำเคียวนั้น ถือเป็นเพลงพื้นบ้านประจำจังหวัดนครสวรรค์ และในบางครั้งก็ใช้แทนเพลงพื้นบ้านในนามภาคกลางด้วย