"หลวงพ่อบุญชู" แพทย์แผนพระ ผู้สืบทอดตำนานการเหยียบฉ่า
    กว่า ๔๐ ปี ที่ หลวงพ่อพระใบฎีกาบุญชู อินทสโร หรือ "หลวงพ่อบุญชู" เจ้าอาวาสวัดเกาะหงษ์ ต.ตะเคียนเลื่อน อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ได้รักษาโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โดยการ "เหยียบฉ่า" มีผู้ป่วยนับหมื่นๆ คนที่ผ่านเท้าหลวงพ่อ โดยหลวงพ่อได้รักษาฟรี ไม่เคยเรียกร้องสักบาท ไม่มีแม้กระทั่งค่าขันบูชาครู แต่เมื่อใครหายก็กลับมาทำบุญเอง ทั้งทอดกฐิน และถวายผ้าป่า ปัจจัยที่ได้จากกิจนิมนต์ จากไปเทศน์ก็นำไปซื้อสมุนไพรมาปรุงเป็นตัวยา เพราะท่านคิดอยู่เสมอว่า อโรคยา ปรมา ลาภา หมายถึง ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ ซึ่งเป็นความปรารถนาของทุกคน เมื่อเป็นโรคก็เป็นทุกข์เหมือนกับตกนรกทั้งเป็น เมื่อพ้นจากโรคก็เป็นสุขเหมือนได้ขึ้นสวรรค์ทั้งเป็น
    "การเหยียบฉ่า" เพื่อรักษาโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ปวดเมื่อยตามแขนขา หรือตามร่างกาย ด้วยการที่พระหมอจะเอาเท้าเหยียบยาสมุนไพรหรือน้ำมันยาแล้วเหยียบลงไปบนแผ่นเหล็กที่เผาไฟจนแดงร้อนจัด หรือใช้เท้าลนไฟถ่านให้ร้อนจัดแล้วเหยียบลงบนคนไข้ จนเกิดเสียงดัง 'ฉ่า' คนไข้ที่มีอาการหนักก็บรรเทาและสบายดีขึ้น ส่วนคนไข้ที่เป็นไม่หนักก็หายจากอาการที่เป็นอยู่ ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าการแพทย์แผนใหม่จะเจริญรุดหน้าแล้วก็ตาม
     ในสมัยก่อนวัดพระปรางค์เหลือง ต.น้ำอ้อย อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ มีชื่อเสียงเรื่องการ 'เหยียบฉ่า' และการรักษาแผนสมุนไพร
ไสยศาสตร์ รดน้ำมนต์ และคาถาอาคม เป็นวัดที่มีพระภิกษุที่เป็นที่เคารพศรัทธาของเหล่าข้าราชการ และประชาชนทั่วไปนั้น นับตั้งแต่หลวงพ่อดำ หลวงพ่อสี จนถึงหลวงพ่อเงิน เป็นพระเกจิชื่อดังในสมัยนั้น และพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ ๕ ทรงเสด็จประพาศต้น มาที่วัดพระปรางค์เหลือง ถึง ๓ ครั้ง ทรงสนพระราชหฤทัยการ 'เหยียบฉ่า' เป็นอย่างมาก
    หลังจากหลวงพ่อเงินมรณภาพ ไม่มีพระเกจิอาจารย์รูปใดสืบทอดวิชาอาคมนี้ ในที่สุดการเหยียบฉ่าก็สูญไปจากวัดท่าพระปรางค์เหลือง แต่วิชานี้ไม่ได้สูญหายไปเสียเลยทีเดียว เพราะมีผู้รับการสืบทอดโดยหลวงพ่ออินทร์ อดีตเจ้าอาวาสวัดเกาะหงษ์ ซึ่งเรียนวิชาจากหลวงพ่อกัน สหธรรมิกของหลวงพ่อเงิน วัดพระปรางค์เหลือง จากนั้นก็ถ่ายทอดมาถึงหลวงพ่อบุญชู เจ้าอาวาสวัดเกาะหงษ์รูปปัจจุบัน
     ผู้ที่มาให้หลวงพ่อเหยียบฉ่าไม่ต้องนัดวันล่วงหน้า ไม่ต้องเข้าคิว มาเมื่อไรก็เจอเมื่อนั้น ด้วยเหตุที่ว่า หลวงพ่อบุญชูจะทิ้งวัดไปไหน
ไม่เกินชั่วโมง ไม่เคยปล่อยให้คนไข้รอ เพราะท่านให้ความสำคัญต่อการรักษาเป็นอันดับแรก ส่วนกิจนิมนต์เป็นอันดับรองๆ ลงมา ถ้านิมนต์ไปเหยียบนอกสถานที่ ท่านจะตอบปฏิเสธ ด้วยเหตุเดียว คือ "เดี๋ยวคนมาวัดรอเก้อ"
     ระหว่างเหยียบฉ่าหลวงพ่อจะสอดแทรกธรรมะให้แก่ผู้มารักษาด้วย โดยเฉพาะธรรมข้อที่ว่า 'อโรคยา ปรมา ลาภา'  สำหรับแนวทางการถ่ายทอดวิชาเหยียบฉ่าของหลวงพ่อบุญชูนั้น ท่านยึดแนวของหลวงปู่อินทร์ คือถ่ายทอดให้ผู้สนใจใคร่อยากรู้ทุกอย่าง โดยไม่ปิดบังเลยสักอย่าง จะมีทั้งพระ หรือญาติโยมทั่วไป มาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ท่านอยู่เป็นประจำ โดยท่านต้องการให้มีผู้สืบทอดวิชาการเหยียบฉ่าให้มากที่สุด เพราะท่านเชื่อว่า คนเราอยู่ได้ไม่เกินร้อยปีก็ตายกันหมด ส่วนที่เกินร้อยก็มีอยู่ไม่เท่าไร วิชาเหล่านี้มีค่ามหาศาลยิ่งนัก มันสมควรอยู่เป็นสมบัติของมนุษยชาติ ถ้าปิดหรือเก็บไว้มันก็ตายตามตัวเราไปเท่านั้นเอง