การแสดงลิเก
    จังหวัดนครสวรรค์ ได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดที่มีคณะลิเกมากที่สุดจังหวัดหนึ่ง โดยมีประมาณ ๒๐๐ คณะ  เริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ โดยอยู่ที่อำเภอเมืองนครสวรรค์ และอำเภอพยุหะคีรี
    "ลิเก" เป็นการผสมผสานศิลปะในการพูด การร้อง การรำ และการแสดงกิริยาท่าทางตามธรรมชาติ โดยมีวงปี่พาทย์บรรเลงประกอบ ทำนองเพลงหลักที่ใช้สำหรับร้องดำเนินเรื่อง เรียกว่า รานิเกลิง (รา-นิ-เกลิง) หรือ ราชนิเกลิง (ราด-นิ-เกลิง) ส่วนอื่น ๆ ที่ใช้สำหรับร้องรำและประกอบกิริยานำมาจากเพลงของละครรำ และเพลงลูกทุ่งซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในขณะนั้น การแสดงลิเกแบ่งเป็น ๔ ส่วนคือ
    ๑.โหมโรง การโหมโรงเป็นการบูชาเทพยดาและครูบาอาจารย์ พร้อมทั้งอัญเชิญท่านเหล่านั้น มาปกปักรักษา และอำนวยความสำเร็จให้แก่การแสดง นอกจากนั้น ยังเป็นการ อุ่นโรง ให้ผู้แสดงเตรียมตัวให้พร้อม และเป็นสัญญาณแจ้งแก่ประชาชนให้ได้ทราบว่าจะมีการแสดงลิเก และใกล้เวลาลงโรงแล้ว
    ๒.ออกแขก การออกแขกเป็นการคำนับครู อวยพรผู้ชม ขอบคุณเจ้าภาพแนะนำเรื่อง อวดผู้แสดง ฝีมือการร้องรำและความหรูหราของเครื่องแต่งกาย เพื่อให้ผู้ชมสนใจ และเตรียมพร้อมที่จะชมต่อไปออกแขกเป็นการเบิกโรงลิเกโดยเฉพาะการออกแขกมี ๔ ประเภทคือ ออกแขกรดน้ำมนต์ ออกแขกหลังโรง ออกแขกรำเบิกโรง และออกแขกอวดตัว
    ๓.เนื้อเรื่อง เนื้อเรื่องเป็นการแสดงลิเกเรื่องราวที่โต้โผซึ่งเป็นผู้เล่าเรื่องกำหนดขึ้นก่อนการแสดงเพียงเล็กน้อย แล้วเล่าเรื่องพร้อมทั้งแจกแจงบทบาทด้วยปากเปล่าให้ผู้แสดงแต่ละคนฟังที่หลังโรง ในขณะกำลังแต่งหน้าหรือแต่งตัวกันอยู่ โดยจะเริ่มต้นแสดงหลังจากจบออกแขกแล้ว โต้โผจะคอยกำกับอยู่ข้างเวทีจนกว่าเรื่องจะดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย ในกรณีที่เกิดปัญหา เช่น การแสดงเชื่องช้า ตลกฝืด ตัวแสดงบาดเจ็บ โต้โผจึงพลิกแพลงให้เรื่องดำเนิน
    ๔.ลาโรง เป็นธรรมเนียมการแสดงละครไทยที่มีการบรรเลงปี่พาทย์ลาโรง ผู้แสดงกราบอำลาผู้ชม โต้โผกล่าวขอบคุณผู้ชม และเชิญชวนให้ติดตามชมการแสดงคณะของตนในโอกาสต่อไป ลิเกเริ่มการแสดงเป็นละครด้วยฉากตัวพระเอก แต่ในระยะหลังๆนี้มักเปิดการแสดงด้วยฉากตัวโกง เพื่อให้การดำเนินเรื่องรวบรัด และฉากตัวโกงก็อึกทึกครึกโครมทำให้ผู้ชมตื่นเต้นและติดตามชมการแสดง การดำเนินเรื่องแบ่งออกเป็นฉากสั้นๆติดต่อกันไปอย่างรวดเร็ว ยิ่งดึกยิ่งใกล้จะจบ การแสดงก็ยิ่งคึกคัก ตื่นเต้น โลดโผน ตลกโปกฮา จนถึงมีฉากตลกเป็นฉากใหญ่ให้ผู้ชม ครื้นเครงแล้วรีบรวบรัดจบเรื่อง บางครั้งก็ไม่จบเรื่องบริบูรณ์ ผู้ชมก็ไม่ติดใจสงสัย แต่อย่างใด