สภาพภูมิศาสตร์จังหวัดนครสวรรค์
    จังหวัดนครสวรรค์ ตั้งอยู่ตอนบนของที่ราบภาคกลาง  อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครขึ้นไปทางเหนือ  ประมาณ ๒๓๙ กิโลเมตร  มีพื้นที่ ๙,๖๒๕ ตารางกิโลเมตร แบ่งเขตการปกครองออกเป็น ๑๓ อำเภอ และ ๒ กิ่งอำเภอ ได้แก่ อำเภอลาดยาว อำเภอตาคลี  อำเภอบรรพตพิสัย อำเภอไพศาลี อำเภอเมืองนครสวรรค์ อำเภอหนองบัว  อำเภอชุมแสง อำเภอตากฟ้า อำเภอพยุหะคีรี  อำเภอท่าตะโก อำเภอเก้าเลี้ยว อำเภอโกรกพระ อำเภอแม่วงก์  กิ่งอำเภอแม่เปิน และกิ่งอำเภอชุมตาบง
    ลักษณะภูมิประเทศคล้ายแอ่งกระทะ ตอนกลางเป็นแอ่งที่ต่ำของที่ราบน้ำท่วมถึง แต่บริเวณขอบทางตะวันออกและตะวันตกจะมีระดับค่อยๆ สูงขึ้น โดยเฉพาะทางด้านตะวันตกสุดในอำเภอแม่วงก์ จะมีระดับสูงถึง ๑,๗๘๐ เมตร ที่เขาตาอุโจ  บริเวณตอนกลางเป็นที่รองรับลำน้ำหลายสาย เช่น แม่น้ำปิง แม่น้ำน่าน แม่น้ำแม่วงก์ และที่สำคัญคือ เป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำเจ้าพระยา อันเกิดจากแม่น้ำปิงบรรจบกับแม่น้ำน่านที่ตำบลปากน้ำโพ  อำเภอเมืองนครสวรรค์ นอกจากนี้ยังมีบึงขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ  คือ  บึงบอระเพ็ด
    สภาพอากาศโดยทั่วไปค่อนข้างร้อนและแห้งแล้งในฤดูร้อน ส่วนฤดูหนาวค่อนข้างหนาว  ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ยต่อปีค่อนข้างน้อย

   นครสวรรค์สมัยก่อนประวัติศาสตร์
    พัฒนาการของเมืองนครสวรรค์ เริ่มเมื่อประมาณ ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว  จากชุมชนเกษตรกรรมขั้นต้นในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งมีลักษณะเป็นสังคมหมู่บ้านขนาดเล็ก ทำการเพาะปลูก ล่าสัตว์  รู้จักการทำเครื่องปั้นดินเผาและทำขวานหินขัด  หลังจากนั้นจึงพัฒนาขึ้นมาเป็นชุมชนที่ใช้โลหะ คือ สำริดและเหล็ก ทำเครื่องมือเครื่องใช้  มีการทำลูกปัดหิน  บางแห่งพบแวดินเผา  แสดงว่ามีการทอผ้า สังคมเริ่มขยายตัวเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่และซับซ้อนขึ้น อาจมีการแบ่งงานกันทำตามเพศและวัย  เริ่มมีความเชื่อเพราะบางแหล่งพบภาชนะดินเผารูปวัว  ตุ๊กตาดินเผา  ชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายเหล่านี้มักอยู่ในเขตที่ดอน ใกล้แหล่งที่มีน้ำซึม น้ำซับ  ที่เรียกว่า พุ  หรือ ซับ ในบริเวณที่ไม่ไกลจากแหล่งแร่เหล็กและทองแดง  เช่น บ้านพุขมิ้น บ้านพุช้างล้วง บ้านใหม่ชัยมงคล  บ้านจันเสน  ในอำเภอตาคลี  บ้านพุนิมิต  บ้านซับตะเคียน  ในอำเภอตากฟ้า ฯลฯ  ชุมชนเหล่านี้มิได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว  แต่มีการติดต่อและสร้างเครือข่ายถึงกัน  รวมทั้งมีความสัมพันธ์กับชุมชนที่อยู่แถวชายฝั่งทะเลด้วย   ดังจะเห็นได้จากรูปแบบในการฝังศพ  ภาชนะดินเผา เครื่องประดับที่ทำจากเปลือกหอยทะเล  และเครื่องมือสำริดและเหล็กที่คล้ายคลึงกัน นอกจากนี้บรรดาเครื่องประดับที่ทำจากหินมีค่า เช่น คาร์เนเลียน อะเกต  และลูกปัดแก้ว  ที่พบมากในยุคโลหะตลอดปลายของชุมชนเหล่านี้  ยังชี้ให้เห็นถึงการติดต่อและรับวัฒนธรรมอินเดียเข้ามาผสมผสานกับวัฒนธรรมพื้นเมือง  ก่อนที่จะพัฒนาขึ้นเป็นชุมชนที่มีรูปแบบ  ผังเมืองที่ชัดเจนในสมัยประวัติศาสตร์


   แผนที่ แสดงที่ตั้งชุมชนโบราณสมัยทวารวดี

    เมืองจันเสน
    เมืองจันเสน ตั้งอยู่ที่หมู่ ๒ ตำบลจันเสน  อำเภอตาคลี  ชาวบ้านเรียกว่า "โคกจันเสน" นายนิจ หิญชีระนันทน์ แห่งสำนักผังเมือง เป็นผู้พบเมืองโบราณแห่งนี้ จากภาพถ่ายทางอากาศแล้วเดินทาง  ไปสำรวจ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙
    ลักษณะของเมือง เป็นเมืองรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส มุมมนทั้งสี่มุมเกือบกลม ภายในเมืองเป็นเนินดินสูง  มีคูเมืองกว้างประมาณ ๒๐-๓๑ เมตรล้อมรอบ แต่ไม่มีคันดิน  ตัวเมืองมีขนาด ๗๐๐x๘๐๐ เมตร คิดเป็นเนื้อที่ ๓๐๐ ไร่เศษ นอกคูเมืองด้านทิศตะวันออกมีสระหรือบึงขนาดใหญ่ รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด ๑๗๐x๒๔๐ เมตร เรียกว่า "บึงจันเสน"
    กรมศิลปากรได้ทำการสำรวจเมืองนี้ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙-๒๕๑๐ ครั้งหนึ่ง และใน พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๑๒ ก็ได้ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีที่เมืองจันเสนนี้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยใช้เทคนิคโบราณคดีสมัยใหม่ การสำรวจและขุดค้นครั้งนี้ไม่พบโบราณสถานที่ก่อสร้างด้วยอิฐเลย แต่พบโบราณวัตถุต่างๆ  จำนวนมากในชั้นดินระยะต่างๆ  ที่สำคัญ ได้แก่ โครงกระดูกมนุษย์  เครื่องปั้นดินเผา ตราประทับดินเผา ที่ประทับตราดินเผา ตุ๊กตาดินเผารูปเด็ก รูปคนจูงลิง  ก้อนดินเผารูปคชลักษมี ตะคันดินเผา  ตะเกียงโรมัน และแวดินเผา เป็นต้น  เมื่อใช้เทคนิคโบราณคดีสมัยใหม่ ทำให้ทราบว่า เนินดินแห่งนี้มีคนเข้ามาอาศัยอยู่ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ยุคโลหะ (พุทธศตวรรษที่ ๔) ติดต่อกันเรื่อยมาจนกระทั่งถึงสมัยประวัติศาสตร์  ยุคทวารวดี  (พุทธศตวรรษที่ 12-14) จึงได้ร้างไปในพุทธศตวรรษที่ ๑๖ โดยมีพัฒนาการมาเป็น  ๖ ระยะ ตามการกำหนดอายุสิ่งของที่พบในชั้นดินระยะต่างๆ

    จันเสนระยะที่ ๑-๖
    ระยะที่ ๑ พ.ศ. ๓๔๔-๕๔๓ ยุคโลหะ เป็นหมู่บ้านกสิกรรมขนาดเล็ก ใช้สำริดเหล็กและทำเครื่องปั้นดินเผาแบบต่างๆ มีการฝังศพ
    ระยะที่ ๒ พ.ศ. ๕๔๓-๗๙๓  สมัยรับอิทธิพลอินเดียยุคต้น  ยังเป็นหมู่บ้านขนาดเล็ก  มีเครื่องปั้นดินเผาคล้ายอินเดีย เริ่มนับถือพุทธศาสนา เพราะพบหวีงาช้างที่มีสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนาแบบอมราวดี มีการเผาศพ
   ระยะที่ ๓  พ.ศ. ๗๙๓-๙๙๓  สมัยฟูนันตอนต้น เป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ขึ้น เริ่มติดต่อกับส่วนอื่น ๆ แถบเอเชียอาคเนย์  ของที่พบ เช่น กระดิ่ง สำริด  ต่างหูรูปห่วงดีบุก ฯลฯ คล้ายกับที่ออกแก้วและอู่ทอง และยังพบเครื่องปั้นดินเผาเคลือบรุ่นแรก
    ระยะที่ ๔ พ.ศ. ๙๙๓-๑๑๔๓ สมัยฟูนันตอนปลาย เป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ สิ่งของยังคงเหมือนกับที่ออกแก้วในสมัยต่อมา เครื่องปั้นดินเผามีแบบแปลกๆ มากมายและมีจำนวนมาก
    ระยะที่ ๕  พ.ศ. ๑๑๔๓-๑๓๔๓  สมัยทวารวดี เป็นระยะที่เจริญสูงสุด  จันเสนกลายเป็นเมือง มีประชาชนจำนวนมาก มีการขุดคูน้ำรอบเมืองเพื่อป้องกันศัตรู และขุดบึงนอกคูเมืองด้านตะวันออกเพื่อจ่ายน้ำเข้าเมือง พบโบราณวัตถุสมัยทวารวดีจำนวนมาก ภาชนะดินเผาสมัยนี้ มีลักษณะคล้ายกับเครื่องปั้นดินเผาที่สมโบร์  ไพรกุก  แคว้นอิศานปุระ
    ระยะที่ ๖  พ.ศ. ๑๓๔๓-๑๕๙๓ สมัยทวารวดีตอนปลาย ตัวเมืองหมดความสำคัญ มีประชากรน้อย พบโบราณวัตถุน้อยลง เครื่องปั้นดินเผามีลักษณะเหมือนกับที่พิมาย

    เมืองบน-โคกไม้เดน
    เมืองบน  เป็นอีกเมืองหนึ่งที่มีการดำเนินการทางโบราณคดี โดยกรมศิลปากร ทำให้ทราบว่าเป็นเมืองโบราณสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ เมืองนี้ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าน้ำอ้อย อำเภอพยุหะคีรี  ด้านตะวันตกติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา
    ลักษณะของเมือง มีกำแพงดินหรือคันดิน ๒ ชั้น กำแพงชั้นในล้อมพื้นที่วงกลมมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒๐๐ เมตร กำแพงชั้นนอกล้อมพื้นที่รูปรียาวประมาณ ๓,๐๐๐ เมตร กำแพงชั้นในส่วนใหญ่ยังคง สภาพเดิม ส่วนกำแพงชั้นนอกหมดสภาพเป็นช่วงๆ โดยเฉพาะด้านตะวันออก ซึ่งมีถนนสายเอเชียตัดทับลงไปบนกำแพงดิน และด้านเหนือมีถนนลูกรังแยกจากสายเอเชียไปยังด้านตะวันตก  คันดินที่เหลืออยู่สูงประมาณ ๒-๓ เมตร คันดินทั้ง ๒ ชั้นต่างมีคูเมืองกว้างประมาณ ๑๐-๑๕ เมตรล้อมรอบ
    กรมศิลปากรได้ดำเนินการสำรวจและขุดแต่งโบราณสถานวัดโคกไม้เดน เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗ จำนวน ๑๖ แห่ง  ลักษณะเป็นเนินดินที่พบอยู่บนพื้นราบและบนภูเขาหลายลูก เช่น เขาไม้เดน  เขาไหว้พระ เขาลั่นทม ซึ่งอยู่นอกกำแพงดินชั้นนอกของเมืองบนด้านตะวันออก  โบราณสถานเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นสถูปเจดีย์รูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ที่สำคัญได้แก่ เจดีย์หมายเลข ๑ หมายเลข ๒ และหมายเลข ๓ ซึ่งในปัจจุบันยังคงเหลือให้เห็นซากอิฐบริเวณฐานเจดีย์ ส่วนเจดีย์หมายเลข ๔  ที่อยู่บนเขาไหว้พระนั้น ได้มีการบูรณะและสร้างเจดีย์ชั้นนอกครอบเจดีย์องค์เก่าไว้  ซึ่งทำให้เห็นได้ชัดเจนในระยะไกล
    เจดีย์หมายเลข ๑ และเจดีย์หมายเลข ๒ มีลักษณะเดียวกันกับเจดีย์จุลประโทนที่จังหวัดนครปฐม คือ เป็นเจดีย์รูปสี่เหลี่ยม มีบันไดขึ้นทั้งสี่ด้านไปสู่ลานประทักษิณ ส่วนฐานนั้นย่อเก็จ และมีภาพปูนปั้นรูปสัตว์ในหิมพานต์ และภาพเล่าเรื่องชาดกในพุทธศาสนาประดับที่ฐานลานประทักษิณ  ส่วนเจดีย์หมายเลข ๓ ที่ต่างออกไป คือ ไม่มีลานประทักษิณและบันได  มีแต่ฐานย่อเก็จ และประดับที่ฐานด้วยภาพปูนปั้นเล่าเรื่องในพุทธศาสนาเช่นเดียวกัน
    สำหรับโบราณวัตถุที่ได้จาการขุดแต่งโบราณสถานได้แก่  รูปปูนปั้นนูนต่ำประดับสถูปเจดีย์เป็นรูปบุคคล  รูปสัตว์   ขวานหิน โลหะทรงกลมทำด้วยสำริดและชิน พระพิมพ์ดินเผาสมัยทวารวดี ส่วนภายในเมืองได้พบคอตะเกียงโรมันทำด้วยดินเผา  และเศษภาชนะดินเผากระจัดกระจายอยู่ทั่วไปบนผิวดิน

    เมืองทัพชุมพล
    เมืองทัพชุมพล ตั้งอยู่ที่หมู่ ๑  บ้านทัพชุมพล ตำบลหนองกรด  อำเภอเมืองนครสวรรค์ 
    ลักษณะเป็นเมือง ๒ ชั้น รูปวงกลม มีคูน้ำคันดินล้อมรอบทั้ง ๒ ชั้น เมืองชั้นใน มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒๕๐ เมตร ขนาดพื้นที่ประมาณ ๓๐ ไร่
คูน้ำมีขนาดกว้าง ๘ เมตร ส่วนใหญ่หมดสภาพ บางส่วนมีน้ำขัง ลักษณะเป็นหนองน้ำธรรมชาติ เรียกว่า "หนองสนนชัย" หรือ "หนองทนนชัย"
ซึ่งชาวบ้านได้อาศัยน้ำในหนองนี้ทำการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์  คันดินมีขนาดกว้าง ๒ เมตร สูงครึ่งเมตร บางส่วนยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์
    กรมศิลปากรเคยมาสำรวจเมืองโบราณแห่งนี้แล้ว   พบว่าเป็นเมืองร้างสมัยทวารวดี บริเวณเนินดินภายในเมืองมีสภาพเป็นป่ารก  มีต้นไม้ขึ้นหนาแน่นและมีร่องรอยการขุดค้นโบราณวัตถุ
    โบราณวัตถุที่ขุดพบได้แก่ พระพิมพ์ดินเผา และสถูปดินเผาจำนวนมาก บางองค์มีจารึกด้วยตัวอักษรแบบอินเดียตอนใต้ เป็นภาษามอญและภาษาบาลี เป็นคาถา "เย ธมฺมา" ซึ่งสามารถกำหนดอายุจากตัวอักษรได้ว่าอยู่ในพุทธศตวรรษที่ ๑๓  นอกจากนี้ยังพบเศษภาชนะดินเผาซึ่งมีลายขูดขีดกระจายอยู่ทั่วไปบนผิวดิน

    เมืองดงแม่นางเมือง
    เมืองดงแม่นางเมือง เป็นเมืองสำคัญอีกเมืองหนึ่ง ที่มีพัฒนาการต่อเนื่องมาในสมัยทวารวดี  ตอนปลาย ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๘ ก่อนจะคลี่คลายเข้าสู่สมัยสุโขทัย เมืองนี้ตั้งอยู่ที่ตำบลเจริญผล  อำเภอบรรพตพิสัย
    ลักษณะของเมือง เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ลบมุม  มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด ๕๐๐x๖๐๐ เมตร มีคูและคันดิน ๒ ชั้น เช่นเดียวกับเมืองบน ภายในเมืองมีสระที่ขุดขึ้นในสมัยโบราณหลายแห่ง ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่
    กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดค้นเมืองโบราณแห่งนี้ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙ ได้พบผังเมือง ๒ ชั้น ดังกล่าว  ตลอดจนโบราณสถานและโบราณวัตถุสมัยทวารวดี เป็นจำนวนมาก  เช่น พระพุทธรูปทำด้วยสำริด และหินทราย พระพิมพ์ดินเผา ลวดลายปูนปั้นประดับโบราณสถาน  เครื่องประดับแขน โครงกระดูก ฯลฯ และที่สำคัญ คือ ได้พบศิลาจารึกทำด้วยหินชนวนสีเขียวสูง ๑๗๕ ซ.ม. กว้าง ๓๗ ซ.ม. หนา ๒๒ ซ.ม. ปักจมอยู่บนโคกโบราณสถาน (คือจารึกหลักที่ ๓๕) จารึกด้วยตัวอักษรอินเดียกลายรุ่นที่ ๒ ด้านหน้าเป็นภาษามคธ ด้านหลังเป็นภาษาขอม จารึกนี้มีความสำคัญมาก เพราะนอกจากจะระบุชื่อเมืองนี้ว่า "ธานยปุระ" แล้ว ยังได้กล่าวถึงศักราช ๑๐๘๙ (พ.ศ. ๑๗๑๐) ทำให้ทราบอายุของเมืองนี้ ซึ่งต่างกับจารึกสมัยทวารวดีอื่นๆ  ที่มักไม่มีศักราชกำกับ ทำให้ต้องอาศัยรูปแบบทางศิลปกรรมมาตัดสิน
    เมืองดงแม่นางเมือง เป็นพัฒนาการขั้นสุดท้ายของชุมชนโบราณสมัยทวารวดีก่อนที่จะขยายตัวเข้าสู่สมัยสุโขทัย ปัจจุบันภายในเมืองโบราณมีราษฏรเข้าไปใช้พื้นที่ในการทำนาและปลูกพืชไร่ ทำให้มีการไถคราดไปบนฐานของซากโบราณสถานหลายแห่ง และมีผลให้ได้พบโบราณวัตถุ เช่น พระพิมพ์ดินเผา พระพุทธรูปหิน เป็นครั้งคราว อย่างไรก็ตามสภาพของคันดิน และคูน้ำก็ยังปรากฏให้เห็นบ้างในบางแห่ง คันดินที่เหลืออยู่สูงประมาณ ๐.๘-๑ เมตร ส่วนคูน้ำกว้าง ๖-๘ เมตร และมีน้ำขังบางส่วน นอกจากนี้ในบริเวณเมืองชั้นนอกยังพบซากฐานโบราณสถานและสระน้ำโบราณด้วย

   สมัยสุโขทัย
    เมืองพระบาง
    ในสมัยสุโขทัยนครสวรรค์ได้ปรากฏชื่อ "เมืองพระบาง" ขึ้นมาแทนที่ ดงแม่นางเมืองที่เสื่อมไป
    หลักฐานทางโบราณคดีที่พบที่เขากบ(ปัจจุบันอยู่บริเวณเทศบาลนครนครสวรรค์) แสดงให้เห็นความรุ่งเรืองทางพุทธศาสนา และความสำคัญของเมืองพระบางในสมัยสุโขทัย ที่สำคัญได้แก่ รอยพระพุทธบาทบนยอดเขากบ ซึ่งตามศิลาจารึกหลักที่ ๓ กล่าวว่าเป็นหนึ่งในบรรดารอยพระพุทธบาทสี่แห่ง ที่สร้างในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไทย นับเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีชิ้นสำคัญที่ช่วยยืนยันว่า "เมืองพระบาง" ที่กล่าวถึงในศิลาจารึกสุโขทัยหลายหลักนั้น คือ "เมืองนครสวรรค์" นอกจากนี้ยังมีพระเจดีย์และวิหารบริเวณเชิงเขา (ปัจจุบันอยู่ในวัดวรนาถบรรพต)
    การสร้างศาสนสถานบนยอดเขาและบริเวณเชิงเขานั้นมีหลักฐานปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๑๑ (วัดเขากบ) ซึ่งพบที่เขากบ  ลักษณะเป็นหินอ่อนสูง ๘๐ ซ.ม. กว้าง ๔๗ ซ.ม.  หนา ๖ ซ.ม. มีจารึก ๒ ด้าน เป็นอักษรและภาษาไทย ว่าพระมหาธรรมราชาลิไทยเป็นผู้สร้างเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่พระยาพระรามผู้น้อง
    การประดิษฐานรอยพระพุทธบาทบนยอดเขากบและการสร้างศาสนสถานที่สำคัญดังกล่าว นอกจากจะเป็นการประกาศพระราชอำนาจของพระมหาธรรมราชาลิไทยเหนือเมืองพระบางแล้ว ยังเป็นการยกย่องให้ความสำคัญแก่เมืองพระบางในฐานะเป็นหัวเมืองหน้าด่าน คอยป้องกันการขยายตัวของหัวเมืองใต้ที่จะขึ้นมายังสุโขทัย
      
   สมัยอยุธยา
    เมืองประชุมพล
    ในสมัยอยุธยา นครสวรรค์ปรากฏบทบาทในฐานะเมืองยุทธศาสตร์สำคัญที่เรียกว่า "เมืองประชุมพล" ซึ่งเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการเกิดสงครามระหว่างไทยกับพม่า ตามเส้นทางที่พม่ายกเข้ามาทางด่านแม่ละเมา ตัดเข้าระแหงแขวงเมืองตาก ลงมาทางกำแพงเพชรถึงนครสวรรค์ แต่เป็นเมืองประชุมพลที่เอื้อประโยชน์ให้กับพม่ามากกว่าไทย เพราะพม่าจะยึดเอานครสวรรค์เป็นฐานตั้งทัพที่ประชุมพลสำคัญ เพื่อยกมาล้อมกรุงศรีอยุธยา เช่นสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. ๒๑๑๒ เนื่องจากนครสวรรค์มีลักษณะพิเศษทางภูมิยุทธศาสตร์คือ เป็นจุดรวมของเส้นทางคมนาคม ทั้งทางบกและทางน้ำ จึงสะดวกต่อการลำเลียงไพร่พลและยุทธสัมภาระต่าง ๆ ทั้งยังมีเส้นทางตัดไปยังพื้นที่หรือเมืองที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญอื่นๆได้ และการยึดเมืองนครสวรรค์ได้เท่ากับพม่าสามารถบีบบังคับให้ไทยต้องทำสงครามแบบตั้งรับพม่าที่เมืองหลวง คืออยุธยาเท่านั้น
    อย่างไรก็ตาม พม่าก็มีโอกาสใช้ประโยชน์จากเมืองนครสวรรค์ เพียง ๒๓ ปี คือระหว่าง พ.ศ. ๒๑๐๖-๒๑๒๙ เท่านั้น เพราะหลังปี ๒๑๒๙ ไทยได้เปลี่ยนยุทธศาสตร์การรับศึกใหม่โดยยกกองทัพไปตั้งรับ ทัพพม่านอกกรุงศรีอยุธยา ประกอบกับพม่าก็เปลี่ยนเส้นทางเดินทัพเข้าสู่ไทย คือ หันไปใช้เส้นทางด่านพระเจดีย์สามองค์ นครสวรรค์จึงมีฐานะเป็นเพียงเมืองผ่านหรือเมืองพักทัพในสมัยต่อมา

   เศรษฐกิจ - ชุมทางสินค้า
    การที่นครสวรรค์เป็นที่รวมของแม่น้ำที่ปากน้ำโพ ทำให้เป็นศูนย์กลางการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างภาคเหนือกับภาคกลางมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ โดยทำหน้าที่เป็นชุมทางสินค้าที่รับสินค้าจากเมืองที่อยู่ตอนต้นแม่น้ำปิง  ยม  น่าน  รวมทั้งจากแม่น้ำป่าสัก แล้วส่งผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา ออกไปยังเมืองต่างๆ ตลอดจนเมืองในต่างประเทศ เช่น มลายู  อินโดนีเซีย  และฟิลิปปินส์