เกี่ยวกับเรา
ประวัติหอวัฒนธรรม จังหวัดนครสวรรค์


ประวัติความเป็นมา
หอวัฒนธรรม จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ เป็นหน่วยงานตามโครงสร้างการบริหารงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ มีประวัติความเป็นมา ดังนี้
ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดนครสวรรค์ ได้ตั้งขึ้นโดยระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยศูนย์วัฒนธรรมพ.ศ. ๒๕๒๔ โดยพัฒนามาจากศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาวัฒนธรรมจังหวัดนครสวรรค์ และหน่วยประเคราะห์ศูนย์ชุมชนส่งเสริมวัฒนธรรม วิทยาลัยครูนครสวรรค์

• พ.ศ. ๒๕๐๑ กระทรวงวัฒนธรรมและสภาวัฒนธรรมถูกยุบลง กองวัฒนธรรมโอนไปสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ กองวัฒนธรรมได้โอนไปสังกัดกรมการศาสนา (สรเชต  วรคามวิชัย ม.ป.ป. : ๕)
กรมการศาสนา จึงได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนให้แก่สถาบันการศึกษาต่างๆ ที่ดำเนินกิจกรรมด้านวัฒนธรรมไทย ในนามหน่วยประเคราะห์ศูนย์ชุมชนส่งเสริมวัฒนธรรมไทย ซึ่งวิทยาลัยครูนครสวรรค์ได้รับงบประมาณส่วนนี้ด้วย และได้ตั้งคณะกรรมการหน่วยประเคราะห์ศูนย์ชุมชนส่งเสริมวัฒนธรรมไทยวิทยาลัยครูนครสวรรค์ขึ้น มีอธิการบดีวิทยาลัยครูนครสวรรค์เป็นประธาน ดำเนินงานจัดกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๐ เป็นต้นมา ปรากฏความตามคำนำหนังสือรายงานกิจกรรมของหน่วยประเคราะห์ฯว่า "หน่วยประเคราะห์ศูนย์ชุมชนส่งเสริมวัฒนธรรมไทย วิทยาลัยครูนครสวรรค์ ได้รับเงินอุดหนุนจากกองวัฒนธรรม กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดทำโครงการต่าง ๆ ขึ้นเพื่อศึกษาค้นคว้าส่งเสริมและเผยแพร่วัฒนธรรมของชาติตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีประจำท้องถิ่นของจังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดใกล้เคียง เป็นการรักษาศิลปวัฒนธรรมอันเป็นมรดกที่มีค่ายิ่งของไทยไว้ให้สืบทอดถึงอนุชนรุ่นหลังต่อไป"

• พ.ศ. ๒๕๒๒ มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ มีฐานะเทียบเท่ากรม สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ส่งผลให้มีคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ศูนย์วัฒนธรรมและศูนย์วัฒนธรรมพื้นบ้านแห่งชาติเกิดขึ้น

• พ.ศ. ๒๕๒๓ มีการประกาศใช้ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาวัฒนธรรม ออกตามพระราชบัญญัติ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ๒๕๒๒ หน่วยประเคราะห์ ศูนย์ชุมชน ส่งเสริมวัฒนธรรมไทย วิทยาลัยครูนครสวรรค์ จึงเปลี่ยนเป็น ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาวัฒนธรรมจังหวัดนครสวรรค์

• พ.ศ. ๒๕๒๔ ได้มีการเปลี่ยนชื่อเรียกใหม่จากเดิมคือ ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดนครสวรรค์ เป็นศูนย์ศิลปวัฒนธรรมจังหวัดนครสวรรค์

• พ.ศ. ๒๕๒๗ มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู ฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๒๗ ในประกาศฉบับนี้กำหนดให้มีการแบ่งส่วนราชการในวิทยาลัยครูชัดเจนขึ้น ซึ่งประกอบด้วย คณะวิชา ศูนย์และสำนัก มีฐานะเทียบเท่ากัน ได้แก่ สำนักกิจการนักศึกษา สำนักวางแผนและพัฒนา ศูนย์วิจัยและบริการ และศูนย์ศิลปวัฒนธรรม

• พ.ศ. ๒๕๓๔ ได้รับงบประมาณจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จำนวนเงิน ๗ ล้านบาท (เจ็ดล้านบาทถ้วน) เพื่อทำการก่อสร้างได้แล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยความร่วมมือระหว่างนายประกิต พิณเจริญ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ นายบุญชู โรจนเสถียร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๒ และนายแพทย์ประสิทธิ์ พิทูรกิจจา อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต ๑ ในสมัยนั้น ได้ร่วมมือกันเพื่อสร้างสิ่งที่ดีที่สุดในด้านศิลปวัฒนธรรม ให้ชื่อว่า "หอวัฒนธรรม จังหวัดนครสวรรค์"
วันจันทร์ที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดหอวัฒนธรรม จังหวัดนครสวรรค์ ทรงลงพระนามาภิไธยในสมุดที่ระลึก   ในห้องส่วนพระองค์ และทรงปลูกต้นพะยอม ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย บริเวณด้านหน้าหอวัฒนธรรม ในวันอาทิตย์ที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๕ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ทรงนำคณาจารย์และนักเรียนนายร้อย โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ทัศนศึกษา ณ หอวัฒนธรรม จังหวัดนครสวรรค์ ทรงรับการถวายบังคมทูลการบรรยายและทอดพระเนตรนิทรรศการ เรื่อง "พัฒนาการทางวัฒนธรรมของเมืองนครสวรรค์"
ปรัชญา
หอวัฒนธรรม จังหวัดนครสวรรค์
เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรม
และภูมิปัญญาท้องถิ่นของจังหวัดนครสวรรค์                   

วิสัยทัศน์
สร้างงานบูรณาการศิลปะและวัฒนธรรม
ในมิติใหม่ของจังหวัดนครสวรรค์     

พันธกิจ
๑. เป็นศูนย์กลางแหล่งการเรียนรู้ ศิลปวัฒนธรรม
และภูมิปัญญาท้องถิ่นของจังหวัดนครสวรรค์

๒. เป็นสถานที่จัดแสดงพิพิธภัณฑ์งานนิทรรศการ เพื่อเผยแพร่ประวัติศาสตร์ความเป็นมา วิถีชีวิตความเป็นอยู่ สืบสานศิลปวัฒนธรรม
และภูมิปัญญาท้องถิ่น ความเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดนครสวรรค์

๓. ส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยวของจังหวัดนครสวรรค์ ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวและสถานที่สำคัญของจังหวัดนครสวรรค์

๔. สร้างเครือข่ายเพื่อช่วยกันทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม คุณธรรมจริยธรรม สร้างจิตสำนึกและค่านิยมในการอนุรักษ์ภูมิปัญญา
และศิลปวัฒนธรรมไทย

๕. ประยุกต์องค์ความรู้และบูรณาการศิลปะและวัฒนธรรมในมิติใหม่
ของจังหวัดนครสวรรค์


วัตถุประสงค์
๑. เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของจังหวัดนครสวรรค์ ในการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์งานนิทรรศการด้านประวัติศาสตร์ความเป็นมา ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้แก่คณาจารย์ เจ้าหน้าที่บุคลากร ทางการศึกษา นักเรียน นักศึกษา หรือนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

๒. เพื่อให้บริการข้อมูลและองค์ความรู้ ผ่านงานเอกสาร หนังสือตำรา งานวิจัยหรืองานที่เกี่ยวข้องกับด้านศิลปะและวัฒนธรรมประจำท้องถิ่น

๓. เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการศึกษาค้นคว้าแบบบูรณาการงานด้านศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นของจังหวัดนครสวรรค์ในมิติใหม่